ดอกเบี้ย 1.25% อนุมัติไว ไม่เช็คบูโร
ลดต้นลดดอก นัดไถ่ถอนได้ตลอด ถูกต้องตามกฎหมาย

บทความ

6 วิธีจัดการกรมธรรม์ เมื่อวิกฤติมาเยือน

ประกันชีวิตถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญ ที่ช่วยบริหารความเสี่ยง ช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินให้กับเราและครอบครัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายเบี้ยประกันที่ต่อเนื่องในระยะยาว และให้ความคุ้มครองในระยะยาวด้วย
 
แต่ในสภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคือง หรือมีเหตุฉุกเฉินด้านอื่นๆเกิดขึ้นในชีวิต อย่างเหตุการณ์โรคระบาด Covid-19 ที่ผ่านมา ถือเป็นความเสี่ยงภายนอกที่ควบคุมได้ยาก ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง หลายคนอาจจะประสบปัญหาด้านการเงิน โดนปรับลดวันทำงาน ลดเงินเดือน รายได้ของกิจการไม่ดีดังเดิม หรือบางคนอาจจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ถึงขั้นต้องออกจากงาน เป็นต้น
 
เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น บางคนเลือกที่จะหยุดส่งเบี้ยประกัน หรือปิดเล่มกรมธรรม์ที่มีอยู่ไปเลย เพราะมองว่าเป็นภาระทางการเงินในช่วงเวลานี้ แต่จริงๆ แล้ว การเลือกวิธีปิดกรมธรรม์ อาจทำให้เราเสียประโยชน์ในหลายๆ ด้านไปในวันนี้ จึงขอแนะนำแนวทางบริหารจัดการประกันที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ได้เหมาะสมและรักษาผลประโยชน์ไว้ได้มากที่สุด ดังนี้
 
1. ขอเปลี่ยนงวดการชำระเบี้ยประกัน
หากยังต้องการคงความคุ้มครองประกันชีวิตไว้เหมือนเดิม แต่อยู่ในช่วงที่เราประสบปัญหาทางการเงิน รายได้ลดลงหรือ รายจ่ายเพิ่มขึ้น เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ จากการที่เคยส่งเบี้ยประกันรายปีซึ่งเป็นเงินก้อน เราสามารถเลือกปรับเป็นส่งเบี้ยรายเดือน ราย 3 เดือนหรือราย 6 เดือนได้ ซึ่งเบี้ยประกันโดยรวมอาจจะสูงกว่าการจ่ายเบี้ยเป็นรายปีเล็กน้อย แต่ก็สามารถทำให้เราบริหารจัดการเงินสดได้ดีขึ้น รวมถึงยังได้ความคุ้มครองที่ตั้งใจไว้ดังเดิม เช่น ปกติเราชำระเบี้ยรายปีในเดือนกันยายนของทุกปี เป็นจำนวน 50,000 บาท ซึ่งกำลังจะถึงวันครบกำหนดชำระ แต่ด้วยมีรายจ่ายฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดเข้ามาในช่วงนี้ ก็เปลี่ยนเป็นการชำระรายเดือน อาจเลือกตัดบัญชีธนาคารอัตโนมัติ เฉลี่ยเดือนละ 4,200 บาท (เบี้ยรายงวดที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับแบบประกันและเงื่อนไขของแต่ละบริษัท) เพื่อบรรเทาภาระในช่วงปีนี้ หากปีหน้าสถานการณ์ทางการเงินดีขึ้น ก็สามารถเปลี่ยนมาชำระรายปีเช่นเดิมได้
 
2. ตรวจสอบผลประโยชน์ของกรมธรรม์ที่มี ปรับลดความคุ้มครองบางส่วน
หากประเมินดูแล้วว่า การเปลี่ยนงวดชำระเบี้ยประกันเป็นรายเดือน ก็ยังเกินกว่าความสามารถในการชำระเบี้ยได้ในระยะนี้ ให้กลับไปตรวจสอบหรือสรุปกรมธรรม์ที่มีอยู่ทั้งหมดโดยละเอียดอีกครั้ง ว่ามีความคุ้มครองในด้านใด เบี้ยประกันเท่าไรบ้าง เช่น อาจมีประกันชีวิต + ความคุ้มครองสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน ความคุ้มครองโรคร้ายแรง) และมีทำประกันอุบัติเหตุไว้ เมื่อสรุปความคุ้มครองที่มีแล้ว พบว่าเบี้ยประกันประกันที่ค่อนข้างสูง กระทบต่อรายจ่ายในปัจจุบันคือ ค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยรายวัน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาโรคประจำตัวใดๆ ความเสี่ยงด้านสุขภาพอาจจะไม่สูงนัก จึงเลือกที่จะปรับลดเบี้ยประกันและความคุ้มครองส่วนนี้ลง แล้วกรณีเจ็บป่วยก็เลือกใช้สิทธิ์ประกันสังคมหรือโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนที่เคยตั้งใจไว้ หรือประกันชีวิตในบางแบบก็สามารถเลือกปรับลดทุนประกันชีวิต และเบี้ยประกันลงได้ เพื่อให้เราสามารถรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นจำนวนที่สูงเกินไป และเมื่อสถานะทางการเงินกลับมาปกติ ก็อาจพิจารณาเพิ่มความคุ้มครองได้ (ขึ้นอยู่กับประวัติสุขภาพ แบบประกันและเงื่อนไขของแต่ละบริษัท)
 
3. เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ขยายระยะเวลา
กรณีที่ส่งเบี้ยประกันมาระยะเวลาหนึ่ง และมีมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ เมื่อประสบปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถส่งเบี้ยประกันต่อได้ แต่ยังต้องการความคุ้มครองชีวิตดังเดิม เนื่องจากบางคนอาจจะเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้หารายได้หลัก มีภาระหนี้สิน มีลูกเล็ก จึงต้องการความคุ้มครองชีวิตที่สูง เพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีไม่คาดฝัน หากจากไปก่อนวัยอันควร ในช่วงเวลานี้ ครอบครัวจะได้ไม่ต้องรับภาระแทน
 
โดยเป็นการเลือกใช้สิทธิ์ขยายระยะเวลากรมธรรม์ ไม่ต้องชำระเบี้ยประกัน ยังได้ความคุ้มครองชีวิตดังเดิม แต่ระยะเวลาความคุ้มครองจะลดลงจากสัญญาเดิม ซึ่งเมื่อเลือกใช้สิทธิ์นี้ อาจจะมีเงินคืนให้บางส่วนในทันที หรือมีเงินครบสัญญา ขึ้นอยู่กับมูลค่าเงินสดที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
 
4. เปลี่ยนเป็นมูลค่าเงินสำเร็จ
กรณีที่ประเมินแล้วว่า ไม่สามารถส่งเบี้ยประกันต่อได้ และไม่ได้เน้นความคุ้มครองชีวิตที่สูงนัก เนื่องจากบางคนอาจจะไม่มีภาระหนี้สินหรือมีบุคคลในอุปการะ ก็สามารถเลือกใช้สิทธิ์มูลค่าใช้เงินสำเร็จ ซึ่งระยะเวลาของสัญญา หรือระยะเวลาความคุ้มครองเท่าเดิม แต่ความคุ้มครองและเงินครบสัญญาจะลดลง โดยเมื่อเลือกใช้สิทธิ์นี้ อาจจะมีเงินคืนให้บางส่วนในทันที ขึ้นอยู่กับมูลค่าเงินสดที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
 
5. ขอกู้กรมธรรม์
กรณีที่ส่งเบี้ยประกันมาระยะเวลาหนึ่ง และมีมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ เมื่อประสบปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถส่งเบี้ยประกันต่อได้ หากเรามีความจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินจากกรมธรรม์ที่มีอยู่ เราสามารถเลือกใช้สิทธิ์ขอกู้เงินจากกรมธรรม์ได้ โดยบริษัทจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ และ +2% ซึ่งจะกู้ได้สูงสุดไม่เกินมูลค่าเงินสดที่มี (ขึ้นอยู่กับแบบประกันและเงื่อนไขของแต่ละบริษัท) แต่ทั้งนี้ต้องประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยสูงไปหรือไม่ เปรียบเทียบกับการกู้เงินจากแหล่งอื่นๆที่มี และควรวางแผนในการชำระคืนเงินกู้ให้เหมาะสม เพื่อกลับมาคงสถานะในกรมธรรม์ดังเดิม เพราะหากเราไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ และมีมูลค่าเงินกู้ หรือดอกเบี้ยค้างจ่าย สูงเกินกว่ามูลค่ากรมธรรม์ ก็จะทำให้กรมธรรม์สิ้นผลบังคับ และยุติความคุ้มครองได้
 
6. ขอเวนคืนกรมธรรม์
สำหรับทางเลือกสุดท้ายที่แนะนำในการบริหารจัดการกรมธรรม์ หากเกิดกรณีที่เราไม่สามารถส่งเบี้ยประกันได้ และประเมินแล้วว่าไม่ต้องการความคุ้มครองในกรมธรรม์อีกต่อไป สามารถเลือกใช้สิทธิ์เวนคืนกรมธรรม์ ซึ่งจะได้เงินคืนมาบางส่วน ขึ้นอยู่กับมูลค่าเงินสดที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ (หากส่งเบี้ยประกันมาไม่นานนัก มูลค่าที่ได้รับก็น้อยลงไปด้วย) และยุติความคุ้มครองในกรมธรรม์ทันที
 
ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากเกิดปัญหาทางการเงินเกิดขึ้น เราสามารถเลือกบริหารจัดการ ประกันชีวิตที่มีอยู่ได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความคุ้มครองที่จำเป็นหรือที่เราต้องการ ประกอบกับการประเมินความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน โดยควรศึกษาและสอบถามเงื่อนไขของกรมธรรม์ที่มีอยู่จากตัวแทนประกันชีวิต หรือนักวางแผนการเงินที่สามารถให้คำแนะนำได้ ซึ่งเราควรตัดสินใจเลือกแต่ละวิธีการอย่างรอบคอบ เพื่อให้เสียผลประโยชน์น้อยที่สุด
 
หากเลือกวิธีการที่เป็นการยกเลิกความคุ้มครองในด้านต่างๆ แล้ว ควรคำนึงถึงประเด็นด้านสุขภาพประกอบการพิจารณา เพราะในอนาคตเมื่ออายุเพิ่มสูงขึ้น สุขภาพของเราเปลี่ยนแปลงไป มีความเสี่ยงมากขึ้น หรือมีโรคประจำตัวต่างๆ อาจทำให้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่บริษัทประกัน สามารถรับทำประกันชีวิตหรือสุขภาพได้ ถึงแม้สถานะทางการเงินจะกลับมาดีขึ้น และมีความสามารถในการชำระเบี้ยประกันได้ก็ตาม
 
 
 
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากเว็บ  wealthythai.com